คลินิกกิจกรรมบำบัด


สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติให้บริการตรวจ ประเมิน ส่งเสริม ป้องกัน บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้บุคคลดำเนินชีวิตได้ตามศักยภาพ โดยการนำกิจกรรม วิธีการ และอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาเป็นวิธีการในการบำบัด ให้บริการครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริม การป้องกัน การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการให้คำปรึกษา แก่ผู้มารับบริการ ญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง บริการ กิจกรรมบำบัด ประกอบด้วยการส่งเสริม ป้องกัน บำบัดและฟื้นฟูในด้านต่าง ๆ โดยใช้กิจกรรมที่หลากหลายรวมไปถึงเทคโนโลยีการฟื้นฟูที่ทันสมัยมี ประสิทธิภาพ ตัวอย่างบริการต่างๆทางกิจกรรมบำบัดมี ดังนี้
1. การฝึกทักษะการทำงานของมือ (Hand function training)
2. การฝึกความสามารถด้านการรับรู้และการเรียนรู้ (Perception and learning training)
3. การฝึกความสามารถด้านความคิดความเข้าใจ (Cognitive function training)
4. การฝึกทักษะกล้ามเนื้อใบหน้าและช่องปาก (Oro-facial motor skill function training)
5. การฝึกการกระตุ้นการดูด การเคี้ยวและการกลืน (Feeding & swallowing techniques training)
6. การเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกพูด (Prespeech training)
7. การฝึกการใช้แขนและมือเทียม (Prosthetic upper extremities training)
8. การออกแบบ ดัดแปลงและจัดทำอุปกรณ์ประคองและอุปกรณ์ดาม (Splints and /or fabrication)
9. การฝึกการใช้เครื่องดามแขนและมือ (Orthotic upper extremities training)
10. การฝึกทักษะการดูแลตนเองและกิจวัตรประจำวัน (Activities of daily living training)
11. การ ออกแบบ ดัดแปลงและจัดทำอุปกรณ์เครื่องช่วยในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต (Assistive & Adaptive devices design and / or fabrication)
12. แนะนำการออกแบบ ดัดแปลงและปรับปรุงสภาพบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน (Home school workplace modification adaptation)
13. การให้คำปรึกษาทางกิจกรรมบำบัด (Occupational therapy counseling)
14. บริการ เชิงรุกได้แก่ การออกหน่วยบริการเคลื่อนที่และให้การเผยแพร่ความรู้ทางกิจกรรมบำบัดและการ ฟื้นฟูสมรรถภาพแก่บุคลากรสาธารณสุข รวมถึงประชาชนทั่วไป

กลุ่มผู้รับบริการ
1. คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการกลืน
๑.1 ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่สมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) หรือมีอาการบาดเจ็บที่สมอง(Traumatic brain injury) เป็นต้น
1.2 ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
1.3 ผู้ป่วยมะเร็ง ลิ้น หรือ กล่องเสียง เป็นต้น
1.4 ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านโครงสร้างของใบหน้าและช่องปาก เช่น ผ่าตัดกล่องเสียง ผ่าตัดลิ้น
2.คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจ
2.1 ผู้ที่มีพยาธิสภาพที่สมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) หรือมีอาการบาดเจ็บที่สมอง(Traumatic brain injury) เป็นต้น
2.2 กลุ่มโรคอื่นๆ ที่มีความบกพร่องทางด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจเป็นหลัก
3. คลินิคฝึกขับรถยนต์สำหรับผู้พิการ
3.1 ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่สมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) หรือมีอาการบาดเจ็บที่สมอง(Traumatic brain injury) เป็นต้น
3.2 ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่ไขสันหลัง (Spinal cord injuries)
3.3 กลุ่มโรคอื่นๆ ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวเป็นหลัก
4. คลินิกฝึกทักษะการเคลื่อนไหวแขนและมือ
4.1 ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่สมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) หรือมีอาการบาดเจ็บที่สมอง(Traumatic brain injury) เป็นต้น
4.2 ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่ไขสันหลัง (Spinal cord injuries)
4.3 กลุ่มโรคอื่นๆ ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวเป็นหลัก
5. คลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบ Intensive
5.๑ คลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบ Intensive ให้บริการผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือบาดเจ็บที่สมอง โดยมีอาการครั้งแรก โดยมีอาการไม่เกิน 6 เดือน และสามารถมารับบริการต่อเนื่อง 4-5 วันต่อสัปดาห์

ข้อควรปฏิบัติก่อนเข้ารับบริการ
๑. ผู้ปกครองควรมาก่อนเวลานัด 10 – 15 นาที เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กก่อนการเข้ารับการบริการ
๒. ผู้ปกครองควรอยู่กับเด็กทุกครั้งที่เข้ารับบริการ ทั้งนี้เพื่อเข้ารับโปรแกรมการฝึกต่อที่บ้าน และเพื่อความปลอดภัยแก่เด็ก
๓. ผู้ปกครองควรเตรียมอุปกรณ์และของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นของเด็กมาด้วยทุกครั้ง เช่น ผ้าอ้อมเด็ก เสื้อผ้า นม เป็นต้น
๔. หากเด็กมีโรคประจำตัว เป็นไข้ น้ำมูก หรืออาการผิดปกติอื่นๆ กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบทุกครั้ง
๕. หากไม่สามารถเข้ารับบริการตามวันและเวลานัด กรุณาโทรศัพท์ติดต่อเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนทุกครั้ง

งานกิจกรรมบำบัด สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้มีการพัฒนาระบบบริการโดยจัดตั้งให้มี คลินิกการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดแบบ Intensive ซึ่งให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่สมอง โดยมุ่งเน้นการให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการป่วยไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีโอกาสฟื้นตัวได้มาก โดยการฟื้นฟูในช่วง 3-6 เดือนแรกหลังจากเกิดอาการจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าเป็นโอกาสทอง (golden period) ของการฟื้นฟู ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของตนได้อย่างปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุดตามศักยภาพของแต่ละบุคคล

โดยบริการของเรามีการให้การฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดอย่างเต็มรูปแบบด้วยเทคนิคต่างๆ อยู่บนพื้นฐานของการเลือกกิจกรรมการฝึกที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสม และมีคุณค่าต่อผู้ป่วย มีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน มีการฝึกต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ และมีการปรับระดับความยาก-ง่ายของกิจกรรมให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการฟื้นฟูโดยใช้เทคนิคต่างๆ เช่น CIMT, MT, Robotic based therapy, เทคนิค Repetitive facilitation exercise (Kawahira Method) เป็นต้น โดยมีอัตราส่วนการให้บริการระหว่างนักกิจกรรมบำบัด: ผู้ป่วย คือ 1: 2 (ต่อ 1 ชั่วโมง) ความถี่ในการรับบริการ คือ 4-5 ครั้ง ต่อสัปดาห์ และระยะเวลาในการเข้ารับบริการ คือ ต่อเนื่อง 30-60 ครั้ง

ขั้นตอนการรับบริการภายใน
1. ผู้ป่วยนอก
1.1 พบแพทย์ที่งานบริการผู้ป่วยนอก และแพทย์สั่งการบำบัดฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด
1.2 นำแฟ้มประวัติพร้อมใบสั่งการรักษาฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัดมาติดต่อ ที่อาคารกิจกรรมบำบัดชั้น 1
1.3 ลงทะเบียนและนัดหมายวัน – เวลารับบริการกับเจ้าหน้าที่
1.4 รับบัตรนัดกิจกรรมบำบัด
1.5 นำบัตรนัดกิจกรรมบำบัดไปติดต่อที่โต๊ะบันทึกการรับบริการ งานบริการผู้ป่วยนอก
1.5 เข้ารับบริการกิจกรรมบำบัด ตามวัน – เวลานัด
2. ผู้ป่วยใน
2.1 แพทย์เจ้าของไข้ตรวจประเมิน และสั่งการบำบัดฟื้นฟูทางกิจกรรมบำบัด
2.2 พยาบาล/เจ้าหน้าที่หอผู้ป่วยประสานงานกิจกรรมบำบัดเพื่อนัดหมายวัน – เวลารับบริการของผู้ป่วย
2.3 ผู้ป่วยรับบริการตามวัน – เวลานัด